ในวาระครบรอบ 9 ปีซึ่งถือเป็น “ก้าวสำคัญ” ของ นิตยสาร Vogue Thailand จึงได้จัดนิทรรศการ “A Fashion Journey – An Exhibition of Vogue Thailand’s Journey in the Fashion Industry” เพื่อบอกเล่าแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ และประวัติความเป็นมาของนิตยสารโว้ก ประเทศไทย ตลอด 109 ฉบับนิตยสาร และอีกหลากหลายคอนเทนต์ออนไลน์ มารวมไว้ให้ผู้ที่สนใจเข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA)
กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร โว้ก ประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดงานในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการฉลองครบรอบ 9 ปี ของนิตยสารโว้กประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าโว้กไม่เพียงโดดเด่นเรื่องแฟชั่น แต่ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องศิลปะ และไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต จึงอยากนำเสนอออกมาในรูปแบบนิทรรศการ และหากมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งรู้ตัวว่าจะได้เป็นบรรณาธิการนิตยสารโว้ก ประเทศไทย ภาพแฟชั่นในความทรงจำจากปี 1980เริ่มตั้งเค้า และจุดประกายจินตนาการในความคิดของผมอีกครั้งด้วยว่าเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยรายละเอียดอันแจ่มชัดและเป็นเอกลักษณ์
โว้ก ประเทศไทย มีจุดยืนที่มั่นคงและเต็มไปด้วยความเชื่อ ในการนำเสนอภาพแฟชั่นที่ผสมผสานระหว่างความเป็นสากลกับวัฒนธรรมไทย สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นในการทำงาน ภายใต้วิสัยทัศน์ของผมและผลลัพธ์ท้ายสุดทั้งหมดจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากไร้ซึ่งแรงสนับสนุนจากทีมงานชาวไทยทุกคน ที่ผมเชื่อมั่นและไว้ใจ เพราะผมระลึกอยู่เสมอว่า ความสามารถและทักษะของคนไทยนั้นไม่ด้อยกว่าใครในโลก ผมจึงถือโอกาสการครบรอบปีที่ 9 ของนิตยสารโว้ก ประเทศไทย นี้ เพื่อยกย่องความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยทุกๆ คนทั้งในอดีตปัจจุบันและอนาคต
ความพิเศษของนิทรรศการนี้ จะทำให้ผู้เข้าชมดำดิ่งสู่โลกการทำนิตยสารแฟชั่น นำเสนอผ่านลำดับเหตุการณ์สำคัญของนิตยสาร เรื่องราวเริ่มต้นตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ.2555 ความเป็นมาของสื่อสิ่งพิมพ์ การจำลองบรรยากาศการทำงานของกองบรรณาธิการ หน้าปกนิตยสารตั้งแต่เล่มแรกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาโดยจัดแบ่งเป็นหัวข้อหลักๆ ได้แก่
1. Evolution of Print Media
สื่อสิ่งพิมพ์ (Print Media) นั้นมีธรรมชาติที่แปลกประหลาด ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกที่มีเพียงตัวอักษรดำบนกระดาษขาว หรือในยุคที่กระบวนการผลิตนิตยสารยังใช้กล้องฟิล์มและฟิล์มสไลด์ ช่างภาพและทีมจะได้รู้ว่างานออกมาเป็นอย่างไร ก็ต่อเมื่อฟิล์มออกมาจากแล็บล้างรูป และคลี่วางลงบนโต๊ะไฟ โดยเฉพาะการวางเลย์เอาท์ ถือเป็นงานฝีมือชั้นสูง เพราะทุกภาพทุกเส้นสายต้องผ่านการจัดวางด้วยมือทีละหน้า ทีละชิ้น ทีละจุด จนถึงปัจจุบันที่ทุกอย่างอยู่บนจอแสดงผล พร้อมให้ปรับเปลี่ยนได้ตลอดด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
2. The Troupe of Inspiration
ไม่ว่าจะยุคไหน ไม่ว่าอุปกรณ์ที่สำคัญและจำเป็นในการการผลิตนิตยสาร หรือแม้แต่รูปแบบของนิตยสารเองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ยังครองตำแหน่ง “สิ่งสำคัญที่สุดและจำเป็นอย่างยิ่ง” ในขั้นตอนการผลิตนิตยสารที่ดีหนึ่งเล่มคือ “กองบรรณาธิการ” ซึ่งต้องมีสายตาและวิสัยทัศน์กว้างพอที่จะรู้ว่า โลกกำลังเคลื่อนไปทางไหน และเฉียบคมมากพอที่จะรู้ว่าควรหยิบจับสิ่งใดมาเล่า และส่งเสริมศักยภาพให้เห็น หรือยั่วล้อให้เกิดอารมณ์ขัน อีกทั้งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการ “อย่างมีศิลปะ”
3. Vogue Beliefs
- 3.1 Embracing Diversity
Vogue Values หรือ “สิ่งที่โว้กเชื่อ” นั้นประกอบด้วยหลายสิ่งที่เป็นทั้งปณิธานและแนวทางของนิตยสารโว้กทุกเอดิชั่นทั่วโลก แต่สิ่งหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ก่อนที่จะมีการบัญญัติศัพท์คำว่าDiversity ขึ้นมาในทศวรรษก่อน ก็คือความหลากหลายที่ปรากฏอยู่ในโว้ก ไม่ว่าจะเป็นสไตล์รูปร่างหน้าตาสีผิว แนวคิดความเชื่อหรือความรัก นิตยสารโว้กแต่ละเอดิชั่นได้นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้เสมอมา ตามบริบทสังคมวัฒนธรรมและผู้อ่านในแต่ละประเทศ
- 3.2 Thainessen Vogue
“ภารกิจที่ Vogue Thailand มีมาตั้งแต่เล่มแรก และดำเนินต่อมาจนวันนี้ คือถ้าคนไทยยังมองไม่เห็นความงามของความเป็นไทยที่ได้มาตรฐานสากล ไม่ยอมรับความเป็นไทยที่ถูกปรับเพื่อสื่อสารกับโลกภายนอก เราก็ตั้งใจว่าจะยกระดับความเป็นไทย ยกระดับงานฝีมืองานคราฟท์ ยกระดับศิลปินและนักออกแบบไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลให้ได้
4. Vogue Standard
มาตรฐานของโว้กไม่ใช่แค่งาม แต่ยังต้องแสดงถึงคุณภาพการทำงานที่ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก และผลงานทุกชิ้นของโว้กต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้เสมอ
พบกับนิทรรศการ “A Fashion Journey – An Exhibition of Vogue Thailand’s Journey in the Fashion Industry” ได้ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA)