กว่า 3 ปีที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนโครงการ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก‘ ตามพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนอย่างยั่งยืน ก่อเกิด ‘การพัฒนาผ้าไทย‘ อย่างเป็นรูปธรรมทั้งในมิติของ การพัฒนาลายผ้าให้ทันสมัย การประกวดผ้าลายพระราชทาน การพัฒนากระบวนการผลิตที่เน้น Sustainable Fashion ย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ การพัฒนาและควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานโลก รวมไปถึงการผนึกกำลังกับนักออกแบบ ดีไซเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย และบุคคลในวงการแฟชั่น ร่วมลงพื้นที่ เพื่อโค้ชชิ่งช่างทอและช่างหัตถศิลป์ให้สามารถก้าวทันเทรนด์ และพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
โดยล่าสุดจัดงาน Silk Festival 2023 Silk Success Sustainability ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น.ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี โดยภายในงานนอกจากจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 36 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ นิทรรศการจากโครงการ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก‘ ยังเปิดเวทีเสวนา ‘การพัฒนาและต่อยอดงานหัตถศิลป์ สู่การสร้างอาชีพ ในวงการออกแบบ‘ โดยมี กุลวิทย์ เลาสุขศรี ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และบรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย, มิลิน ยุวจรัสกุล ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ MILIN ชนาภา ตรีรัตนชาติ ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ IRADA พรทิพย์ อรรถการวงศ์ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ATT 19 โรเบิร์ต เจมส์ ศุกระจันทร์ ศิลปินนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ร่วมแสดงทัศนะพร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ นักศึกษา และ ผู้สนใจเข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการนำไปต่อยอดในรูปแบบที่หลากหลาย
กล้าออกนอกกรอบ ค้นหาเอกลักษณ์ของแบรนด์ คือ หัวใจสำคัญ
ผ้าทอ–งานหัตถกรรมของไทย สวยงามและมีคุณค่าในตัวเอง เมื่อนำไปต่อยอด สิ่งสำคัญคือ การค้นหาเอกลักษณ์ การสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ชนาภา ตรีรัตนชาติ ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ IRADA เผยว่า ผ้าทอ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ของไทยมีความสวยงาม มีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว จึงเกิดไอเดียอยากทำชุดที่มีผ้าไทยผสม ในช่วงเวลานั้นอยากพาแบรนด์ไปลุยตลาดอินเตอร์ จึงกลับมามองว่า จุดแข็งอะไรที่สามารถแข่งขันกับแบรนด์อื่นได้ ซึ่งส่วนมากจะใช้ผ้าจากฝรั่งเศส อิตาลี เพราะเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงระดับโลก เลยมามองว่าผ้าไทยก็มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์ ไม่แพ้ผ้าจากต่างประเทศ จากนั้นมีโอกาสเดินงานโอทอป ได้พูดคุยกับช่างทอ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำคอลเลกชันที่เอาผ้าไทยมามิกซ์ เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์
“อยากให้ทุกคนคิดนอกกรอบ มองผ้าไทยในมุมอื่นๆ จึงเกิดเป็น ready to wear เราทำการสำรวจตามงาน OTOP ต่างๆ ทำให้เห็นว่า ไทยก็คือผ้าทวีตดีๆ แพงๆ ในสไตล์ไทย เมื่อนำมาผสานกับดีไซน์ที่ออกจากข้อจำกัดเดิมๆ ไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์ที่คนมองผ้าไทยว่าจะต้องเป็นดีไซน์แบบนั้นแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วผ้าไทยก็สามารถนำมาจับเดฟ ทำงานกราฟิกได้ เน้นดึงเสน่ห์ของผ้าผืนนั้นให้ออกมามากที่สุด แต่ยังคงเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้”
มิลิน ยุวจรัสกุล ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ MILIN หนึ่งในไทยดีไซเนอร์ที่ได้ตัดชุดโดยใช้ผ้าไทย ให้กับผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 รวมถึงเป็น ‘สไตล์ ไดเรกเตอร์‘ ให้กับอแมนด้า ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 และ แอนชิลี สก๊อต–เคมมิส มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 กล่าวว่า “การพัฒนางานหัตถศิลป์ของไทย ต้องกล้าที่จะแตกต่าง ครั้งแรกที่ได้ใช้ผ้าไทยคือ ตัดชุดให้กับผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ปีที่เมืองไทยเป็นเจ้าภาพ เกิดความประทับใจว่า ผ้าไทยก็สามารถฉีกกรอบเดิมๆ ได้ พอมีงานโว้ก กาล่า จึงมีโอกาสนำผ้าไทยมาตัดชุดในสไตล์ MILIN ดีไซน์สาวเปรี้ยว นำผ้าไทยมาผสมกับผ้ากำมะหยี่ เมื่อลูกค้าของแบรนด์เห็นก็ชอบ เกิดมุมมองใหม่ของผ้าไทย ผ้าไทยไม่จำเป็นต้องดีไซน์กับชุดทางการ แต่สามารถนำไปตัดเย็บในทุกสไตล์”
เสน่ห์งานหัตถศิลป์ไทย บนเส้นทาง Sustainable Fashion ตอบโจทย์เทรนด์โลก
หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการจัดนิทรรศการงานหัตถศิลป์ หรืองานคราฟต์ของคนไทย มุก–พรทิพย์ อรรถการวงศ์ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ATT 19 แกลอรีชื่อดังย่านเจริญกรุง เผยถึงมิติของผ้าไทยที่เป็นมากกว่า ผืนผ้าว่า ผ้าไทยเป็นทั้งงานศิลปะ, เฟอร์นิเจอร์ และ Accessories ต่างๆ เพราะด้วยขั้นตอนการทำที่เป็นงานคราฟต์ที่ใช้วัสดุต่างๆ ที่หาได้รอบตัวมารังสรรค์ เป็นการใส่จิตวิญญาณและความตั้งใจ รวมทั้งภูมิปัญญาของประเทศลงไปในชิ้นงาน ซึ่งทุกปีจะมีงานคราฟต์และงานผ้าไทยมาโชว์ที่ ATT19 หลายงาน ซึ่งผ้าไทย เป็น Sustainable Fashion อย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับ Global Trend ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ
“งานคราฟต์มีเสน่ห์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว แต่สิ่งที่ขาดไปของงานคราฟต์ไทยคือ Story telling ที่จะดึงดูดลูกค้า สะท้อนคุณค่าของผลงาน สิ่งนี้จะสามารถสร้างมูลค่าทางจิตใจ ทำให้มีโอกาสที่ลูกค้าจะซื้อสินค้ามากขึ้น และลูกค้าจะไม่ต่อราคา ดังนั้นการทำงานกับชุมชนและศิลปินพื้นบ้านต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจและความสมัครใจ ดีไซเนอร์ และคนที่ทำงานกับชุมชนต้องพบกันครึ่งทาง ต้องสื่อสารในรายละเอียดให้เข้าใจ ต้องมี Deadline ที่ชัดเจน ต้องจริงใจ พูดคุยและใช้เวลาทำความรู้จักกัน สร้างความสัมพันธ์ที่จริงใจ จะทำให้เราเข้าใจและทำงานกันได้ง่ายขึ้น”
ต่อลมหายใจงานหัตถศิลป์ ด้วยการสร้างแบรนด์ดิ้ง สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ด้านโรเบิร์ต เจมส์ ศุกระจันทร์ ศิลปินนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เผยว่า “เมืองไทยมีคนมีฝีมือทำงานคราฟต์ดีๆ เยอะมาก แต่ตอนนี้กำลังสูญหายไป เพราะคนรุ่นใหม่ไม่มีใครจะมาสานต่อ อาจจะด้วยปัจจัยด้านรายได้ ทำให้งานคราฟต์ที่เป็นภูมิปัญญาของประเทศค่อยๆ เลือนหายไป ดังนั้นการโค้ชชิ่งเรื่องการตลาด ควบคู่กับการพัฒนาดีไซน์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดก็จะทำให้ขายได้ มีรายได้ สำหรับการร่วมงานกับชุมชน จะเริ่มต้นที่ Passion และความหลงใหลในงานของตัวเอง ชุมชนนั้นพร้อมที่จะแชร์เรื่องราวของชิ้นงานนั้นๆ บ่งบอกได้ว่าพวกเขามีความตั้งใจที่อยากพัฒนาสินค้า และมีความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเอง”
มิลิน ยุวจรัสกุล ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ MILIN กล่าวเสริมว่า “สิ่งหนึ่งที่จะช่วยพัฒนางานหัตถศิลป์ของไทย ‘การพัฒนาผ้าไทย‘ สู่ตลาดโลกได้ ผู้ประกอบการต้องก้าวทันโลก รู้จักใช้โซเซียลมีเดียในการโปรโมต และทำการตลาด การใช้ MUSE ถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่จะช่วยสร้างแบรนด์ดิ้ง สร้างรายได้ อย่างแบรนด์มิลินเอง เคยได้ออกแบบชุดให้ อแมนด้า ออบดัม ใส่ไปประกวด Miss Universe 2020 โดยใช้ผ้าไทย เกิดเป็นกระแสผ้าไทย ทำให้หมู่บ้านที่ทอผ้าเกิดรายได้”
เชื่อมโยงระหว่างภูมิปัญญาไทย กับ คนรุ่นใหม่
ผ้าไทยและงานหัตกรรมไทยที่เกิดจากภูมิปัญญา ที่ถูกส่งต่อจากรุ่นปู่ย่าตายาย สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ดังนั้น สื่อมวลชน ถือเป็นกำลังสำคัญที่คอยผสานช่องว่างระหว่างเจนเนเรชั่น รวมถึงดีไซเนอร์รุ่นใหม่
กุลวิทย์ เลาสุขศรี ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และ บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย เผยว่า “ในฐานะ โว้ก ประเทศไทย เป็นสื่อกลางที่จะพาผ้าไทยให้ไปถึงดีไซเนอร์ในวงการแฟชั่นระดับโลก เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบชั้นนำ ซึ่งเราทำงานกับผ้าไทยมานานแล้ว พยายามเชื่อมโยงการผลิตงานคราฟต์ด้วยมือ สู่วงการแฟชั่นระดับโลกยุคใหม่ เหมือนเป็นงานประจำปีที่เราจะส่งผ้าไทยไปให้ดีไซเนอร์คนดังและได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้เอาผ้าเราไปตัดเย็บ แต่อย่างน้อยก็ได้รู้จัก สัมผัส ได้รู้เรื่องราวและคุณค่าของผ้าไทย ที่ผ่านมาโว้กเองก็ได้ก้าวข้ามข้อจำกัด โดยการเอาแม่ถวิล อุปรี ประธานกลุ่มทอผ้าย้อมครามดอนกอย จังหวัดสกลนคร มาขึ้นปก Vogue ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำงานคราฟต์ให้เป็นที่รู้จักออกไปในวงกว้างนอกเหนือจากคนในชุมชนและคนในไทย”
ร่วมเป็นหนึ่งในการต่อลมหายใจให้กับงานหัตถศิลป์ไทย และ ‘การพัฒนาผ้าไทย‘ ด้วยการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากชุมชน และสามารถติดตามกิจกรรมดีๆ ของโครงการ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก‘ ได้ที่ เฟซบุ๊ก ผ้าไทยใส่ให้สนุก หรือ คลิก www.facebook.com/phathaisaihaisanook/