มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม ศูนย์ความเข้าใจเชิงบวกเกี่ยวกับความต้องการพิเศษ แห่งแรกในประเทศไทย ร่วมกับอาร์ตคอนเนคชั่น โดยการสนับสนุนของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และโนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดตัว ‘นิทรรศการภาพถ่ายโบราณ‘ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะเพื่อความแตกต่าง Language of The Soul ภาษาแห่งจิตวิญญาณ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด ‘Co-Labs:The Collaboration ร่วมกัน…สรรค์สร้าง‘ เพื่อฉลองวันดาวน์ซินโดรมโลก ในวันที่ 21 มีนาคม และวันออทิสซึมโลก ในวันที่ 2 เมษายน 2565
‘Co-Labs: The Collaboration ร่วมกัน…สรรค์สร้าง‘ เป็นนิทรรศการศิลปะเพื่อความแตกต่าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเท และความสามารถของศิลปิน ที่มีความต้องการพิเศษ โดยมีแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานจากการร่วมมือกัน ของศิลปินมืออาชีพในต่างสาขา และศิลปินผู้มีความต้องการพิเศษที่เข้าร่วมโครงการ

โรสซาลีน่า อเล็กซานเดอร์ แม็คเคย์ ประธานมูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม กล่าวว่า นิทรรศการภาพถ่ายฟิล์มกระจกเปียกโคโลเดียน ของศิลปินผู้มีความต้องการพิเศษ 10 คน ในโครงการภาษาแห่งจิตวิญญาณ โดยศิลปินช่างภาพสารคดีชาวฟิลิปปินส์ นิโก้ เซเป้ นั้น นับได้ว่าเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทย–ฟิลิปปินส์ส่วนหนึ่ง และยังเป็นการเฉลิมฉลองศักยภาพ และความทุ่มเทของศิลปินที่มีความต้องการพิเศษ และครอบครัวของพวกเขา โดยผ่านการร่วมมือในกระบวนการสร้างสรรค์ของการถ่ายภาพ ที่มีความพิเศษเฉพาะตัวอีกด้วย

การร่วมมือของศิลปินที่ทำงานในด้านต่างๆ นั้น นับเป็นการขยายผลทางศิลปวัฒนธรรม ที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะนำมาซึ่งนวัตกรรมทางศิลปะที่น่าสนใจ ในนิทรรศการชุดนี้ การใช้กระบวนการถ่ายภาพฟิล์มกระจกเปียกโคโลเดียน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ถ่ายภาพ ของศิลปินที่มีความต้องการพิเศษแบบร่วมสมัย เป็นการยืนยันถึงปฏิญญาของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมโอกาสและบทบาท ในการแสดงออกทางศิลปะอย่างทั่วถึง โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสำคัญ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที รองประธานมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าว

ประคำกรอง พงษ์ไพบูลย์ วชิรวรภักดิ์ ตัวแทนอาร์ตคอนเนคชั่นและภัณฑารักษ์ของโครงการ กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังนิทรรศการชุดนี้ว่า ภาพถ่ายเป็นการบันทึกช่วงเวลาของชีวิต เพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำที่มีความหมาย เมื่อคนเราไม่สามารถเก็บทุกความทรงจำในชีวิตได้ การเลือกจึงเกิดขึ้นอย่างละเอียดละออ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป ความละเอียดละออนี้เอง ก็ถูกถ่ายทอดในกระบวนการการถ่ายภาพฟิล์มกระจกเปียกโคโลเดียน ตั้งแต่การวางแผนจนถึงการพิมพ์ภาพ ขั้นตอนต่างๆ มีธรรมชาติเป็นตัวแปรสำคัญเหนือการควบคุม

เมื่อถามถึงเบื้องหลังของงานสร้างสรรค์ชุดนี้ นิโก้ เซเป้ ศิลปินช่างภาพสารคดีชาวฟิลิปปินส์ กล่าวว่า บุคคลที่อยู่ในภาพถ่ายในนิทรรศการนี้ทุกคนเป็นศิลปิน การที่จะร่วมมือกับช่างภาพในกระบวนการที่ไม่คุ้นชิน เป็นสถานการณ์ที่ศิลปินเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วยังไม่เคยเผชิญ การที่จะถูกขอให้นั่งนิ่งๆ เป็นเวลา 10 วินาที ท่ามกลางแสงไฟสว่างจ้าเป็นประสบการณ์ใหม่ กระบวนการถ่ายภาพฟิล์มกระจกโคโลเดียน เป็นงานที่ละเอียดอ่อนและมีขั้นตอนซับซ้อน การก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้จึงถือได้ว่าเป็นความสำเร็จทางศิลปะ งานนิทรรศการครั้งนี้ เป็นการสร้างสรรค์เพื่อบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ และครอบครัวที่ดูแลสนับสนุนพวกเขาด้วยความรัก นี่ไม่ใช่การบันทึก ‘ความงาม‘ อย่างผิวเผิน แต่เป็นความงามบริสุทธิ์ที่ปราศจากการปรุงแต่ง
นอกจาก นิทรรศการภาพถ่ายโบราณ แล้ว นิทรรศการนี้ยังมีอีกสองส่วน คือการจัดวางงานจากการร่วมมือสร้างสรรค์ ที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งการตีความ รูปแบบ และสีสัน ระหว่างเพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ศิลปินสิ่งทอร่วมสมัยระดับแนวหน้าของประเทศไทย และซัน ไกรลาศ สกุลดิษฐ์ ศิลปินผ้าทอผู้มีความต้องการพิเศษ
และอีกส่วนเป็นผลงานการสร้างสรรค์โดยวิชุลดา ปัญฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนขยะให้เป็นงานศิลปะ ซึ่งได้นำเอาบทกวีของกวีแรคคูณข้างเดียว มาสร้างเป็นงานประติมากรรมแห่งจินตนาการ โดยมีคณะหุ่นเจ้าขุนทอง ร่วมออกแบบการเคลื่อนไหว โดยอีกสองการจัดวางนั้นจะเริ่มเปิดแสดงในวันที่ 29 มีนาคม – 24 เมษายน 2565 นี้ บริเวณชั้น L ของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร